Menu

ความมุ่งหมายในการก่อตั้งสัมมาชีวศิลปมูลนิธิฯ

จากหนังสือบันทึกเรื่อง “ ความมุ่งหมายในการก่อตั้งสัมมาชีวศิลปมูลนิธิฯ ” ที่คณะผู้ก่อตั้งได้แก่ หลวงปริญญาโยควิบูลย์, พระอร่ามรณชิต, พระสงครามภักดี, พระยาอมรฤทธิธำรงและพระปวโรฬารวิทยา ได้เขียนเป็นบันทึกไว้สำหรับผู้เกี่ยวข้องกับการบริหาร และผู้สนใจที่อยากทราบเท่านั้น แต่ไม่ประสงค์ให้ใช้สำหรับโฆษณาแก่มหาชน

ผมเห็นว่าข้อความบางตอนน่าจะเป็นประโยชน์สำหรับผู้บริหาร, ทายาทของเจ้าของทุนและผู้บริจาค ให้ได้รับรู้เพื่อร่วมกันอนุโมทนา อีกทั้งจะเป็นการเผยแผ่แนวทางปฏิบัติต่อการดำเนินการในปัจจุบัน และอนาคตให้เป็นไปอย่างถูกต้อง สมตามเจตนารมณ์ของผู้ก่อตั้งต่อไป

กิจกรรมของสัมมาชีวศิลปมูลนิธิฯ เป็นผลมาจากคณะผู้ก่อตั้งได้ปรารภกันเรื่องการจัดการศึกษาของประเทศไทย ในช่วง ปี พ.ศ. 2470 รวมกับความวิตกกังวลต่อการสืบพระพุทธศาสนา เนื่องในโบราณกาลวัดเคยเป็นโรงเรียนไปด้วยในตัว เยาวชนที่ปรารถนาจะเล่าเรียนต้องไปอยู่ที่วัด โดยขอเข้าเป็นศิษย์ของพระภิกษุ มีการสอนอ่านและเขียน สอนคำนวณ เป็นลูกมือรับใช้ซ่อมแซมถือเป็นการเรียนวิชาช่าง ฝึกสวดมนต์และฟังธรรมตามโอกาส จึงไม่มีสิ่งชักนำไปในทางชั่ว เพราะไม่มีอบายมุขให้ได้รู้เห็น พระภิกษุอื่นๆ ก็ล้วนแต่เป็นตัวอย่างที่ดีทั้งสิ้น เด็กย่อมได้รับการสั่งสอนทั้งทางศาสนาและวิชาการความรู้พร้อมกัน เยาวชนที่ออกมาจากวัดปรากฏว่าได้มีอาชีพเป็นหลักเป็นฐาน

picschoolการจัดการศึกษาของรัฐ ต่อมาเมื่อรัฐจัดการศึกษาตั้งโรงเรียนขึ้น แทนการส่งเด็กไปวัด เราก็ส่งไปโรงเรียน การศึกษาวิชาการได้เพิ่มขึ้น ( สร้างเสริมปัญญา IQ = Intelligence Quotient ) แต่การศาสนาคงทิ้งไว้ในวัด สิ่งแวดล้อมก็มีการยั่วยวนให้ลุ่มหลงไปในทางอบายมุขมาก จึงไม่สามารถช่วยตัวให้ดำเนินชีวิตไปอย่างดีได้ยาก จนประชาชนคนไทยมีแต่ชื่อว่าเป็นพุทธมามกะส่วนเนื้อแท้นั้นเป็นผู้ไม่มีความรู้ในพุทธศาสนาเลย ไม่เคยปฏิบัติเยี่ยงพุทธมามกะหรือศาสนิกใดๆทั้งสิ้น ซึ่งคนจำพวกนี้มีจำนวนมากขึ้นเท่าๆกับพวกที่ได้รับการศึกษา เช่น คนในเมืองหลวง ทำให้เห็นว่าผู้ที่ได้รับการศึกษาดีแล้วกลับมีคุณธรรมต่ำกว่าผู้ไร้การศึกษาในชนบท ซึ่งความจริงคนชนบทเขาหาได้ไร้การศึกษาไม่ หากเขามีการศึกษาตามแบบเก่าไม่มีหลักสูตร มีแต่การเรียนและปฏิบัติจริงตามธรรมชาติสิ่งแวดล้อมที่ตนอยู่ ซึ่งสร้างคุณธรรมประกอบด้วยคติธรรมตามพระพุทธศาสนาให้เขา ด้วยถ้าผู้ได้รับการศึกษาสูงเป็นคนโกง ก็ยิ่งเบียดเบียนคนอื่นได้มาก เพราะคนฉลาดมักเอาคนด้อยการศึกษาเป็นเหยื่อเพื่อประโยชน์ของเขา ซึ่งสอดคล้องกับสำเนาพระราชหัตถเลขาของ สมเด็จพระปิยมหาราช รัชกาลที่ 5 ฉบับที่ 52 เรื่อง “ สอนธรรมแก่เด็กนักเรียน ” ที่พระราชทานแก่สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญานวโรรส วัดบวรนิเวศวิหาร ลงวันที่ 24 กรกฎาคม ร.ศ.117 ความว่า  “ เรื่องการศึกษานี้ ขอให้ทรงช่วยดัดให้มากๆ จนถึงรากเหง้าของการศึกษาในเมืองไทย ……. การสอนศาสนาในโรงเรียนทั้งในกรุงและหัวเมืองจะต้องมีขึ้น ให้มีความวิตกว่าเด็กชั้นหลัง จะห่างเหินจากศาสนาจนกลายเป็นคนไม่มีธรรมในใจมากขึ้น…… ต่อไปภายหน้าถ้าจะเป็นคนที่ได้เล่าเรียน คงจะประพฤติตัวดีกว่าคนที่ไม่ได้เล่าเรียนนั้นหาถูกไม่ …….. ถ้ารู้น้อยก็โกงไม่ใคร่คล่อง หรือ โกงไม่สนิท ถ้ารู้มากก็โกงคล่องขึ้นและโกงพิสดารมากขึ้น…… ”       การที่เราจะขะมักเขม้นสอนและอบรมชาวพุทธของเราให้รู้หลักพระพุทธศาสนาทั่วทุกตัวคนนั้น ไม่เป็นการเสียคติธรรมอย่างไรเลย และไม่มีใครจะมาติเตียนหรือมีปฏิกิริยาอย่างใดๆได้ ไม่ทำให้ใครต้องเดือดร้อนใจเพราะการสอนเช่นนั้น แต่จะเป็นประโยชน์ทั้งแก่เฉพาะบุคคลและส่วนรวม ส่วนการสอนให้มีน้ำใจอันกว้างขวางก็มิได้เสียไปเพราะเรามิได้แทรกแซงเข้าไปในศาสนาของผู้อื่น หาเป็นการกระทบกระเทือนต่อเขาไม่ คนไทยเราต้องมีหลักยึดถือเป็นชีวิตจิตใจอยู่ 3 หลัก คือ ชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ หลักทั้งสามนี้จะต้องสั่งสอนอบรมจึงจะรู้สึกรักศรัทธาเลื่อมใสและเคารพสักการะได้ สถาบันใดจะรับหน้าที่สั่งสอนอบรมได้ดีเท่ากับโรงเรียนเห็นจะไม่มี ฉะนั้นโรงเรียนจึงควรวางหลักสูตรและสรรหาผู้สอนให้เยาวชนสามารถเกิดความรู้สึกยากทะนุถนอมและจงรักภักดีด้วยจิตใจ มีวิธีเดียวก็คือ ต้องสอนพุทธศาสนากันโดยตรง จึงจะทำให้ผู้ศึกษาเข้าถึงหัวใจของพระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นการจำเป็นแก่พุทธมามกะอย่างยิ่ง

ปัจจุบันมีการเรียน จริยศึกษาหรือ ศีลธรรม ตามแบบในเวลานี้นั้น เกรงว่าจะไม่เป็นผลตามที่หวัง เพราะขาดปัจจัยสำคัญ คือครูไม่สามารถจะควบคุมความประพฤติของนักเรียนให้ทั่วถึงได้ นักเรียนคนใดที่ผู้ปกครองเอาใจใส่สั่งสอนอบรมก็ดีไป คนใดที่ผู้ปกครองปล่อยปละละเลยก็แก้ไม่ไหว ฉะนั้นการเรียน จริยศึกษาหรือศีลธรรมก็หวังผลได้ยากเท่ากับการเรียน “สมบัติผู้ดี” ซึ่งเพียงให้นักเรียนรู้ว่าในสังคมจะต้องวางตัวอย่างไรจะไม่เสียมารยาท เท่ากับเป็นการเรียนให้รู้จักลวงบุคคลอื่นให้เห็นว่าตนเป็นคนดี
( รู้จักระงับการแสดงออกทางอารมณ์ EQ.= Emotional Quotient ) แต่ที่แท้จิตใจก็คงไม่ผิดอะไรจากที่เป็นอยู่แล้วเลย ดังนั้นการสอนศาสนาจะเป็นปัจจัยที่บันดาลให้เด็กปฏิบัติตามคำสอนก็เพราะเกิดจาก ความกลัว การทำบาป กับมีจิตศรัทธาเลื่อมใส จะต้องให้เกิดควบคู่กัน เพราะฉะนั้นจึงควรมีการสอนพระพุทธศาสนาแก่เยาวชนกันอย่างจริงจังตั้งแต่อนุบาลที่เดียว การสอนวิชาพระพุทธศาสนาจะต้องมีครูพิเศษที่สามารถเป็นผู้นำและทำตัวอย่างชี้แนะให้เด็กสนใจไม่เบื่อ โดยสร้างวิธีการให้เข้าใจได้ง่ายๆ จัดกิจกรรม โดยการนำไปปฏิบัติฟังธรรมที่วัด อาราธนาพระมาแสดงธรรมที่โรงเรียนฯ หรือพาเด็กไปทำความสะอาดวัดเพื่อให้สังเกตสิ่งแวดล้อมที่สงบ พาไปดูโบราณวัตถุหรือศิลปวัตถุต่างๆในวัดเพื่อให้เกิดยากทะนุถนอม อบรมให้เด็กคุ้นแก่การปรนนิบัติพระเพื่อให้เกิดจงรักถักดีด้วยจิตใจ
( มีศีลธรรมประจำใจ MQ = Moral Quotient ) เหล่านี้เป็นต้น

การจัดตั้งมูลนิธิบำรุงการศึกษา เมื่อคณะผู้ก่อตั้งได้ปรารถนาดังกล่าวมา จึงเห็นว่าไม่มีวิธีใด ที่จะให้ทำให้การศึกษาของประเทศไทยดำเนินไป ตามความคิดที่เชื่อว่าถูกต้องได้ นอกจากจะจัดตั้งโรงเรียนขึ้นเอง ด้วยวิธีนี้เท่านั้นที่จะมีทางให้ได้ทดลองทฤษฎีที่คิดไว้คือ

  • การให้เด็กเป็นผู้มี ความรู้ทางปัญญา ( มี IQ )
  • รู้จักปฏิบัติตนให้อยู่ในสังคมอย่างสงบสุข ( มี EQ )
  • มีจิตเมตตา กรุณา ดำรงตนอย่างมีความสุข ( มี MQ )

คณะผู้ก่อตั้งได้บันทึกไว้ว่าในชั้นต้นจะตั้งโรงเรียนให้กับครอบครัวที่ยากจน และจะให้การศึกษาโดยไม่ต้องเสียค่าเล่าเรียน แต่เมื่อวางแผนกันไปมา เหตุผลทำให้ยอมรับว่า การไม่เก็บค่าเล่าเรียนนั้น ในชั้นต้นคงทำไม่ได้ เพราะจะไม่มีเงินเป็นค่าเงินเดือนครู และค่าใช้สอยทางธุรการของโรงเรียน ( รวมถึงการพัฒนาคุณภาพการศึกษาที่จำเป็นพื้นฐาน ) หากจะหวังเงินจากผู้มีใจเป็นกุศลคงจะไม่พอเพียง จึงจำเป็นต้องเก็บค่าเล่าเรียน พอเพื่อเลี้ยงตัวให้ได้ไปก่อน แต่การให้เปล่าทั้งโรงเรียนก็คงยังอยู่ในความมุ่งหมาย “ถ้าอาจทำได้เมื่อใดก็จะทำทันที”
เรื่องเกี่ยวกับการดำเนินการ คณะผู้ก่อตั้งได้ปรารภกันในเรื่องเกรงว่าจะช้าจนเกินไป ถ้าจะเชิญผู้มีบุญหนักศักดิ์ใหญ่มาสนับสนุนด้วยจะดีหรือไม่ ? ในที่สุดก็เห็นพร้อมกันว่าการทำอะไร ๆ ถ้าต้องมีอิทธิพลของบุคคลบางคนมาหนุนหลังเสมอไปนั้น มหาชนในชาติของเรา ก็จะไม่รู้จักวิธียืนบนขาของตนเอง คอยแต่จะต้องหาคนช่วยเสมอไป ( นี้เห็นกันอยู่ในปัจจุบัน ต่อค่านิยมในการแสวงหาผู้นำองค์กรแต่ละแห่ง ที่จะต้องเป็นผู้มีตำแหน่งสูงในวงราชการ หรือเป็นทหารที่มียศนายพลแล้วจะทำให้การดำเนินการต่างๆ เป็นไปด้วยความเรียบร้อยไม่มีอุปสรรค ?????? )

จึงควรจะให้ประชาชนผู้ศรัทธาทั่วไปหรือสังคมนั้นๆ ต่างคนต่างช่วยกันจึงจะดี ด้วยคนในชุมชนจะเข้ามามีส่วนร่วมและจะเกิดสามัคคีเข้มแข็งขึ้นในชาติ และกิจการที่กระทำนั้นก็จะมีเสถียรภาพชั่วกาลนาน นับว่าสอดคล้องกันกับระบอบประชาธิปไตยที่ประเทศเราดำเนินอยู่ เพราะถ้าจะยกกิจการทั้งปวงให้แก่รัฐบาลทั้งหมด โดยที่ราษฎรไม่ช่วยปลดภาระไปบ้างเลยนั้น ประเทศชาติก็จะเจริญรวดเร็วได้ยาก เหตุทั้งหลายที่กล่าวมานี้ ได้ทำให้ยับยั้งไว้และต้องพอใจในความก้าวหน้าอย่างช้าๆ แต่มั่นคง พร้อมกับมีความหวังอย่างเต็มที่ว่า คงจะถึงเวลาเข้าสักวันหนึ่ง ที่ประชาชนจะพากันให้ความสนับสนุน

 

ประวัติและปณิธานผู้ก่อตั้งสัมมาชีวศิลปมูลนิธิ

นโยบายการพัฒนาการศึกษาของประเทศไทย
จากหนังสือประวัติการก่อตั้งสัมมาชาวศิลปมูลนิธิพิมพ์เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคมพ.ศ. 2512 เขียนโดยสดกูรมะโรหิต ได้สัมภาษณ์ศาสตราจารย์หลวงปริญญาโยควิบูลย์
คุณหลวงปริญญาโยควิบูลย์ (ชม รามโกมุท) เกิดความคิดเรื่องจะพัฒนาการศึกษาของประชาชนด้วยขณะที่รับราชการกรมรถไฟได้เดินทางไปสำรวจเพื่อวางแนวรถ ไปจังหวัดโคราช-อุบล
พบเห็นความเป็นอยู่ของชาวบ้านทำนาแลกเก็บรวงข้าวด้วยมือแค่พอเอาไปรับประทานส่วนที่เหลือ ก็ทิ้งไว้กับต้นเป็นเหยื่อนกหนูไป
การหาแหล่งน้ำก็ลำบากต้องไปไกลๆต่างคนอยู่แบบธรรมชาติไม่คิดพัฒนาการทำนาหรือขุดบ่อเป็นแหล่งน้ำ

อีกเรื่องทางภาคตะวันออกได้นั่งเรือไปสำรวจทางจากสัตหีบไปจันทบุรีโดยทางเรือ เห็นเรือชนหินแตกสินค้าเสียหายชาวบ้านต่างเข้าไปเก็บสินค้าเอาไปเป็นของตน เจ้าของอยากได้เสากระโดงเรือกลับต้องจ่ายเงินค่าไถ่  รู้สึกชาวบ้านแทนที่จะช่วยผู้ทุกข์ยากกลับเห็นเป็นการหาประโยชน์ด้วยชาวบ้าน ต่างก็เป็นคนจนไม่ทำอะไรอยู่ตามธรรมชาติ
มาคิดว่านโยบายการศึกษาของประเทศยังบกพร่องอยู่มาก ด้วยการศึกษาวางแนวให้เป็นข้าราชการไม่ได้สร้างคนให้รู้จักการประกอบอาชีพสร้างเนื้อสร้างตัวด้วยตนเอง

ในปี 2470 ได้เขียนบทความหัวข้อว่า ” หลักสูตรการศึกษาของประเทศสยาม”  จะส่งไปลงในหนังสือวิทยาจารย์ แต่ผู้บริหารไม่รับด้วยกลัวว่าผู้อ่านจะเข้าใจผิดว่าเป็นนโยบายของรัฐ

จุดเริ่มตั้งมูลนิธิ
ต่อมาเมื่อหลังจากมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองในพ.ศ. 2489 คุณหลวงปริญญา มีโอกาสพบกับพระอรามรณชิต( อ๊อด จุลานนท์ ) และเพื่อนชื่อพระสงครามภักดี ( แม้น เหมะจุฑา ) ทั้งสองท่านสนใจเรื่องการจัดการศึกษาอยู่แล้ว และยังบอกไม่ต้องคิดพึ่งทางราชการอีกกลัวประวัติศาสตร์จะซ้ำรอยอีก ให้ทำเองดีกว่าควรตั้งเป็นรูปมูลนิธิก็แล้วกัน
คุณหลวงปริญญาฯ เคยอยู่ปัปลิคสคูล ในประเทศอังกฤษซึ่งตั้งขึ้นเพื่อเป็นโรงเรียนการกุศล จึงคิดนำมาใช้เป็นรูปมูลนิธิที่ไม่แสวงหากำไร

ก็เริ่มไปเชิญพระปวโรฬารวิทยา ( ป๋อ เชิดซื่อ ) ซึ่งเป็นนักเรียนมัธยมด้วยกันและเป็นครูรู้เรื่องการศึกษาอย่างดี และพระยาอมรฤิทธิ์ธำรงค์ ( พร้อม ณ ถลาง ) ได้ร่วมปรึกษากับคณะผู้ก่อตั้งเรื่องการจดทะเบียนให้หลวงอรรถกมล ร่างตราสารมูลนิธิ โดยจุดประสงค์ก็มุ่งไปว่าให้มีพระพุทธศาสนาเป็นแกนที่มีมรรค 8 ประการเห็นว่าสัมมาอาชีพเป็นจุดเริ่มต้น ที่จะทำให้เป็นคนดีแล้วส่วนอื่นเข้ามาประกอบจึงตั้งหลักขึ้นสามประการในโครงการจัดการศึกษา ไม่ใช้หลักสามอาร์ คืออ่านเขียนและเลขคณิตของฝรั่ง ไม่ใช้หลักว่า พุทธิศึกษา จริยะศึกษา หัตถศึกษาและพลศึกษา แต่ตั้งว่า ” ศีลธรรม ปัญญา อาชีพ ”  สามประการนี้ขาดอย่างไรอย่างหนึ่งเสียมิได้ ผู้ที่ได้รับการศึกษาก็ต้องเป็นผู้มีศีลธรรม มีแต่ปัญญาความรู้ถ้าขาดศีลธรรม ก็ไม่ดีถ้าคนมีความรู้แล้วเป็นคนโกงก็ยิ่งเบียดเบียนคนอื่นได้มากที่สุดเพราะคนฉลาดมักเอาคนโง่เป็นเหยื่อ เราจะปล่อยให้คนฉลาดขาดศีลธรรมไม่ได้ ศีลธรรม จึงต้องมาก่อนแล้วตามด้วยปัญญา เมื่อมีศีลธรรม และปัญญาหากละเลยเกลียดคร้าน ไม่รู้จักนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์คือรู้แต่ทฤษฎีไม่สามารถนำไปประกอบอาชีพก็ไม่ดี จะได้ขออนุญาตสภาวัฒนธรรมก่อนจึงไปจดทะเบียนกระทรวงมหาดไทยในการนี้มูนิธิจะต้องมีทุนเริ่มก่อตั้ง คุณหลวงปริญญาได้ลงเงิน 10,000 บาทและอีกสี่ท่านได้ลงเงินอีกท่านละ 1,000 บาทรวมเป็นทุนเริ่มต้นจำนวน 14,000 บาท ( หนึ่งหมื่นสี่พันบาทถ้วน ) จดทะเบียนโดยตั้งชื่อว่า ” สัมมาชีวศิลปมูลนิธิ ” 
โดยนำเอาคำว่า “สัมมา” มาสนธิกับคำว่า ” อาชีวะ ” และตามด้วย “ศิลป”  สัมมาชีวศิลปมูลนิธิ ได้รับจดทะเบียนเมื่อวันที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2492

การจัดตั้งโรงเรียน
ทุนเริ่มต้นเพียง 14,000 บาทจัดตั้งโรงเรียนได้อย่างไรการประชุมมีการเสนอให้หาผู้บริจาค ผู้มีทรัพย์สินที่กรรมการใกล้ชิดอยู่หลายราย  ใช้เวลาอยู่สองปี ผลคือบางคนก็ไม่เห็นความสำคัญบางคนก็เสนอขอมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการ ฯลฯ สิ่งคาดหวังจึงต้องล้มหมด จึงให้เป็นข้อกำหนดว่า ผู้บริจาคต้องมีความจริงใจบริจาคและหากมีกรรมการบริหารก็ต้องไม่หวังสิ่งตอบแทนใดๆ

สรุปที่ประชุมว่าคงต้องหาที่เช่าไปก่อนคุณหลวงปริญญาต้องรับภาระในการหาที่ตั้งโรงเรียน จากเสนอว่ามีที่ดินที่ปากเกร็ด กรรมการไม่เห็นด้วยเพราะอยู่ไกล
เสนอที่แถวราชดำริ ก็ถูกค้านว่าเป็นที่เปลี่ยว…..
พ.ศ. 2494  ได้ที่เช่าเป็นร่องสวนมีเรือนไม้หลังเล็กๆ อยู่ หนึ่งหลัง ทางเข้าเป็นถนนโรยกรวดกับอิฐหัก เจ้าของให้เช่าเดือนละ 1,300 บาท  เป็นอันว่าเริ่มตั้งโรงเรียนชั้นอนุบาลก่อนมีครูสองคนคือครูสีสลับ เป็นครูใหญ่ ครูพูนสุขเป็นผู้ช่วย มีนักเรียน 6 คน ได้ภรรยาคุณหลวงปริญญาดูแลสถานที่ และกรรมการกลางมาช่วยกันดูแลเด็กๆ ร้องไห้กันระงม…
การจัดการศึกษาวิชาพิเศษมีพระภิกษุสอนธรรมะ ครูพิเศษสอนเปียโน นาฎศิลปและภาษาอังกฤษ จากครูต่างประเทศ  การสอนภาษาอังกฤษเป็นที่นิยมด้วยใช้การสนทนาเด็กได้ใช้โสตประสาทในการฟังและหัดพูด จนสามารถสนทนากับครูต่างชาติได้เป็นอย่างดี ในนโยบายจัดการศึกษาในโรงเรียนมีปัญหาขัดแย้งกับทางราชการเรื่องจะให้หยุดวันพระแต่ราชการหยุดวันเสาร์อาทิตย์  กรอปกับ ผู้ปกครองก็มีปัญหาเลยต้องเปลี่ยนเป็นหยุดตามราชการ
จากปีแรกเปิดอนุบาล 1 ปีต่อๆมาก็เปิดอนุบาล 2
เมื่อเริ่มรับประถม 1 ก็เห็นว่าสถานที่นี้แคบไปแล้ว… ต้องขอเช่าเพิ่มอีก 89    ตรว. รวมจ่ายค่าเช่าเดือนละ 1,400 บาท

DIGITAL CAMERA

DIGITAL CAMERA

วันที่ 7 มีนาคม พ.ศ.2494 สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์
ทรงเสด็จเปิดป้ายชื่อโรงเรียนสัมมาชีวศิลป ซอยพญานาค กรุงเทพมหานคร.

ปี 2497 มูลนิธิเริ่มมีปัญหาทางงบประมาณปลายปีจึงได้อาราธนาท่านเจ้าคุณ พระปัญญานันทมุนี เจ้าอาวาสวัดชลประทานรังสฤษฎ์ มาแสดงปาฐกถา ท่านสนับสนุนให้ผู้มีจิตศรัทธาเห็นความสำคัญการสร้างโรงเรียนจนมีผู้ติดกัณฑ์เทศกันมาก ได้เงิน 10,000 กว่าบาท ก็เริ่มปลูกเรือนไม้ชั้นเดียวสำหรับประถมขึ้นอีกหลัง
ต่อมาวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ.2501 ก็ได้ท่านเจ้าคุณพระปัญญานันทมุนี มาแสดงปาฐกถาธรรมและประกาศให้ผู้มีจิตศรัทธาช่วยกันอุทิศเงินเพื่อสร้างอาคารไม้ชั้นสองเสริมขึ้นรวมเงินสร้างอาคารที่ได้จากการบริจาค รวม 69,000.บาท
อย่างไรก็ดีโรงเรียนนี้ก็เป็นเพียงสถานที่ตั้งชั่วคราวด้วยยังต้องเช่าที่ดินเขาอยู่ …?
ช่วงวิกฤตการณ์ การดำเนินการโรงเรียนสัมมาชีวศิลปกรุงเทพมหานคร
คุณหลวงปริญญาฯ ได้ยกที่ดินหลักสี่ 6 ไร้  ราคา 170,000 บาทซึ่งได้ประสงค์จดทะเบียนบุตรสองคนได้แก่ ดร.ศรีปริญญา และนายสารวิบุล รามโกมุท ยกให้มูลนิธิ แต่ด้วยประสงค์ จะจัดตั้งโรงเรียนอาชีพตามปณิธาน ในชนบท  กรรมการจึงได้ขายที่แห่งนี้ไปซื้อที่ดินปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี 10 ไร่ 3 งาน 10 ตารางวา

พ.ศ.2503 เจ้าของที่ดินที่มูลนิธิเช่าตั้งโรงเรียนสัมมาชีวศิลป ซอยพญานาค ต้องการขายช่วงนั้นเปิดเรียนถึงชั้นประถมปีที่ 4 แล้ว หากมีผู้อื่นซื้อที่แล้วไม่ต้องการให้เช่าจะทำอย่างไร…?
คุณหลวงปริญญาฯ เล่าถึงโครงการที่ดินที่ปากเกร็ดว่า คุณหลวงยุกตเสวีวิวัฒน์ ได้ออกแบบกะว่าจะสร้างโรงเรียนอาชีพ มีอาคารประถม มัธยมและโรงฝึกอาชีพ
เพื่อแก้ปัญหาจำเป็นต้องขายที่ปากเกร็ดไปได้เงินเพียง 300,000 บาทเอามาซื้อที่โรงเรียนในซอยพญานาคได้เพียง 235 ตารางวา ต้องใช้เงิน 399,500.บาท (สามแสนเก้าหมื่นเก้าพันห้าร้อยบาทถ้วน) ส่วนที่ขาดสัมมาชีวศิลปมูลนิธิ ต้องทำสัญญากู้เงิน 99,500 บาท โดยเสียดอกเบี้ยและผ่อนชำระกับเจ้าของที และได้ขอบริจาคอยู่ห้าปีจนสามารถนำไปชำระได้หมด
พ.ศ.2509 เกิดอุปสรรคขึ้นอีกเจ้าของที่ดินส่วนที่เช่าเพิ่ม 89 ตารางวา ที่สร้างเรือนไม้ไว้ ต้องการขายที่อีก ได้เจรจาขอซื้อโดยผ่อนชำระภายในแปดเดือน….?
คุณหลวงปริญญาฯ ต้องใช้ความเพียรพยายามโดยไปแสดงปาฐกถา ตามที่ต่างๆ เพื่อขอความกรุณาผู้ใจบุญทั้งหลายให้ร่วมกันบริจาคเงินซื้อที่ดินนี้คนละหนึ่งตารางวา โดยวิธีนี้แหล่ะที่เชื่อว่าประชาชนคนไทยยังมีผู้มีจิตใจเป็นกุศลอยู่มาก จึงได้ช่วยกันสนับสนุนทำให้ได้เงินทันเวลาที่กำหนด

จึงเป็นอันว่าสัมมาชีวศิลปมูลนิธิ ได้เป็นกรรมสิทธิ์ที่ดินโรงเรียนสัมมาชีวศิลป ซอยพญานาคกรุงเทพมหานครจำนวน 324 ตารางวา โดยสมบูรณ์เป็นต้นมาด้วยเงินคุณหลวงปริญญาและครอบครัวร่วมกันกับผู้มีจิตศรัทธาบริจาค ดังที่กล่าวมา

การสร้างอาคารตึกสามชั้นโรงเรียนฯ
พ.ศ.2510 คุณหลวงปริญญาฯ มีโอกาสได้พบกับพระบำราศนราดูร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ท่านสนใจกิจการของมูนิธิและโรงเรียน ต่อมาในเดือนกันยายน 2510 พระบำราศนราดูร ได้โทรแจ้งว่าหม่อมหลวงปิ่น มาลากุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ จะให้การสนับสนุนการก่อสร้างอาคารเรียนให้โรงเรียนสัมมาชีวศิลป
มูลนิธิเป็นผู้ออกแบบก่อสร้างอาคารเรียนตึกสามชั้นมีดาดฟ้า ได้รับความช่วยเหลือจากคุณสง่า วรรณดิษฐ์ ดูแลออกแบบและคำนวณราคาเป็นเงิน 1,300,000 บาท ต้องส่งไปให้สถาปนิกและวิศวกร กรมวิสามัญ พิจารณาเห็นชอบก่อนส่งไปสำนักงบประมาณ สรุปได้รับอนุมัติเพียง 500,000 บาท เมื่อกรมวิสามัญเรียกประมูล ผลได้บริษัท เอ.อี.ซี.ซี. โดยคุณวรชาติ สุวรรณโชติ เป็นผู้รับเหมาก่อสร้างซึ่งมีใจการกุศลด้วยราคาเพียง 1,000,000 กว่าๆ ไม่รวมการติดตั้งสายไฟฟ้าซึ่งต่อมาเสียค่าติดตั้งไฟฟ้าได้เงินจากดอกเบี้ยธนาคาร เงิน 39,316.90 บาท มาจ่าย

งานนี้ต้องใช้เงินผู้บริจาคให้มูลนิธิประมาณ 600,000 บาท เสร็จเอาในปี 2514 ซึ่งอาคารเรียกว่า “วิทยาคารสงเคราะห์ ” กระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งโรงเรียนต้องเสียค่าเช่า…
ฯพณฯ สุกิจ นิมานเหมินท์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษามาทำพิธีเปิดอาคารตึกสี่ชั้น ชั้น 4 เป็นดาดฟ้า เดิมจะให้เป็นที่เรียนพละศึกษา ภายหลังต้องกั้นเป็นห้องเรียนมาจนถึงปัจจุบัน
ต่อมาได้รับหนังสือจากกระทรวงศึกษาธิการ แจ้งว่าเนื่องจากมลูนิธิได้จ่ายเงินค่าก่อสร้างสูงกว่าของรัฐ และมูลนิธิก็มีวัตถุประสงค์จะยกให้กระทรวงศึกษาธิการอยู่แล้ว จึงขอยกอาคารนี้ให้อยู่ในกรรมสิทธิ์ ของสัมมาชีวศิลปมูลนิธิ และเป็น ที่ตั้งโรงเรียนสัมมาชีวศิลป ซอยพญานาคเขตราชเทวีกรุงเทพมหานคร อยู่ในปัจจุบัน
พ.ศ.2517 สัมมาชีวศิลปมูลนิธิ เริ่มมีผู้ศรัทธาบริจาค พอจะมีทุนเพิ่มขึ้น  คุณหลวงปริญญาฯ จึงได้เสนอว่าตามปณิธานที่ตั้งไว้จะสร้างโรงเรียนในชนบทแต่ต้องขายที่นนทบุรี 10 ไร่ไป และ อยากเห็นผลสำเร็จจึงขอเงินไปซื้อที่ตำบลหนองรีชลบุรี 29 ไร่ เงิน 39,860 บาท  แต่ด้วยเป็นที่กันดารไม่มีน้ำ ต่อมาก็ได้ขายไป ซื้อที่ติดถนนเลียบอ่างเก็บน้ำบางพระ ตำบลสุรศักดิ์ จังหวัดชลบุรี มีเนื้อที่ 57 ไร่ เหมาะการขยายงานการเกษตรและด้านอาชีพอื่นๆ
19 มีนาคม 2517 ได้เปิดการศึกษาผู้ใหญ่แบบเบ็ดเสร็จและจัดตั้งโรงเรียนมัธยมแบบประสม โดยสอนวิชาสามัญและวิชาชีพและที่สำคัญคือ ให้ความรู้ทางพระพุทธศาสนารวมทั้งประสบประการณ์ชีวิต ได้รับอนุมัติจากกรมวิสามัญศึกษาให้รือถอนอาคารเรียนเก่าแห่งหนึ่งในส่วนกลางมาสร้างในที่แห่งนี้
15 มิถุนายน 2520 รับอนุญาตตั้งโรงเรียนมัธยมสัมมาชีวศิลปบางพระ
เนื่องจากมูลนิธิมีเงินสำรองจำกัด  จึงต้องประหยัดและหารายได้เพื่อซื้ออุปกรณ์การเรียนโดยบอกบุญไปยังผู้มีจิตศรัทธาในโอกาสต่างๆ จัดการทอดผ้าป่าสามัคคี เป็นที่น่ายินดีที่ได้รับความอนุเคราะห์ทั้งจากส่วนราชการและประชาชนด้วยดี

cbpic14

วันที่ 27 สิงหาคม พ.ศ.2532 ได้พระกรุณาจากสมเด็จพระญาณสังวร  พระสังฆราช เสด็จมาเป็นประธานทอดผ้าป่า  รวมทั้งมีฝ่ายฆราวาสผัดเปลี่ยนกันเป็นเจ้าภาพทอดผ้าป่าได้แก่ นายอินทรี จันทรสถิตย์ ฯณฯ สัญญา ธรรมศักดิ์ คุณบุญชื่น รามโกมุท หม่อมราชวงค์หญิงรสลิน คัคนางค์ คุณมาลี รัชชุศิริ ท่านผู้หญิงยุภา อายุรกิจโกศล นายจำนง โพธิสาโร อาจารย์ อวยพร เปล่งวานิช คุณหญิงยสวดี อัมพรไพศาล
ในวันจัดงานทำบุญโรงเรียนบางพระตามรายงานของคุณดุสิต พานิชพัฒน์ ประธานสัมมาชีวศิลปมูลนิธิ กล่าวว่าคุณสารวิบุล รามโกมุท และพี่น้องได้ร่วมใจกันสร้างอาคาร “บ้านชมอุทิศ” รวมทั้งส่วนควบเพื่อเป็นอนุสรณ์แก่ศาสตราจารย์ ดร.หลวงปริญญาโยควิบูลย์ เป็นมูลค่าล้านกว่าบาท มอบให้เป็นสมบัติของสัมมาชีวศิลปมูลนิธิ
และในวันเสาร์ที่ 28 เมษายน 2533 ศาสตราจารย์ ฐะปะนีย์ นาครทรรพ รองประธานเป็นผู้แทนมูลนิธิ เป็นผู้รับมอบ นอกจากนี้ศาสตราจารย์ ดร.หลวงปริญญาโยควิบูล ยังได้ตั้งทุนส่งเสริมกิจการโรงเรียนมัธยมสัมมาชีวศิลปบางพระ อีกเป็นเงินหนึ่งล้านบาท มีคุณศรีนคร โกมลภิส กรรมการอำนวยการเป็นผู้จัดการโรงเรียนฯ
ปี 2550 จากรัฐที่มีนโยบายสนับสนุนให้ภาคเอกชนเข้ามาร่วมจัดการศึกษาโดยจัดตั้งสถานศึกษาหรือสถาบันการศึกษาเอกชนเพื่อช่วยแบ่งเบาภาระการจัดการศึกษาของภาครัฐ ในส่วนที่รัฐจัดไม่ได้หรือจัดได้ไม่ทั่วถึง แต่ทุกวันนี้จากพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 และจากพรบ. การศึกษาเอกชน พ.ศ.2550 ที่รอนสิทธิ์เจ้าของให้โรงเรียนต้องเป็นนิติบุคคล
จากสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สถานศึกษาเอกชนกำลังประสบ ทำให้มีตัวเลขของโรงเรียนเอกชนในกรุงเทพฯ ที่ต้องปิดลงในช่วงที่ผ่านมามากกว่า 200 แห่ง จากทั้งหมด 800 กว่าแห่งแต่โรงเรียนสัมมาชีวศิลปก็ยังคงดำรงอยู่ได้ ก็ด้วยการอุปการะจากผู้ศรัทธาบริจาคให้สัมมาชีวศิลปมูลนิธิฯ  วัตถุประสงค์ของสัมมาชีวศิลปมูลนิธิจะเป็นไปตามปณิธานและอุดมคติของคุณหลวงปริญญาและคณะผู้ก่อตั้งแล้วหรือยัง….?

คุณครูหลวงปริญญาตอบว่ามีความตั้งใจอยู่สองอย่างคือ ปรับปรุงโรงเรียนปัจจุบันให้กว้างขวาง แต่กิจการของสัมมาชีวศิลปมูลนิธิในอุดมคติ จะสร้างขึ้นในชนบท มีนโยบายการเกษตรแต่ไม่ใช่เกษตรอย่างเดียวต้องสร้างให้เป็นอุตสาหกรรมครัวเรือนเป็นอุตสาหกรรมที่เกิดจากพืชผลเกษตร โดยตั้งแนวไว้สามขั้นตอน..?
ชั้นแรก ตั้งโรงเรียนเพื่อสร้างเยาวชน มุ่งการอบรมบ่มนิสัยให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ มี “ศีลธรรม ปัญญา  อาชีพ ” ให้ความรู้ความสามารถในวิชาอาชีพเฉพาะสัมมาอาชีพตามหลักคำสอนในพระพุทธศาสนาสามารถเลือกวิชาชีพที่ถูกกับอุปนิสัยที่ตนรัก ต้นชอบ เป็นผู้มีจิตเมตตากรุณาเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่บำเพ็ญประโยชน์เกื้อกูล
ขั้นกลาง สนับสนุนส่งเสริมบุคคล อบรมพัฒนาความรู้ในวิชาชีพสาขาต่างๆจนสามารถรวมตัวกันจัดตั้งสหกรณ์ของชุมชน
ขั้นสุดท้าย มูลนิธิจะอุปการะโดยมีกองทุนให้ยืมการประกอบอาชีพที่ตนถนัด ก่อตั้งสหกรณ์ร้านค้า สหกรณ์เกษตรกรรม สหกรณ์อุตสาหกรรมเป็นต้น
เพื่อให้ชุมชนมีเครื่องอุปโภค บริโภคของตนเองได้โดยไม่ต้องพึ่งภายนอก
ทั้งสามขั้นตอนขึ้นอยู่กับทุนทรัพย์ที่ได้รับจากผู้บริจาคจนสัมมาชีวศิลปมูลนิธิ มีทรัพย์สินเพียงพอเสียก่อนและในที่สุดสัมมาชีวศิลปมูลนิธิ จะเป็นแกนอยู่กลายเป็น พุทธนิคม
ซึ่งมีพุทธมามะกะ ที่มีจิตใจดีมีสัมมาอาชีพพึ่งตนเองได้เป็นผู้ตั้งอยู่ในเบญจธรรมมีความมุ่งหมายที่จะบำเพ็ญมรรคอันประกอบด้วยองค์แปดให้สมบูรณ์ต่อไป..

ในเรื่องการบริหารจัดการสัมมาชีวศิลปมูลนิธิ คณะผู้ก่อตั้งมีความเห็นกันว่าหากจะเชิญผู้มีบุญหนักสักใหญ่หรือผู้มีอิทธิพลมาเป็นกรรมการบริหาร หรือสนับสนุนก็จะทำให้สังคมผู้บริจาคเข้าใจว่า มูนิธิต้องตกเป็นพวกกับกลุ่มคนเหล่านั้นไปด้วย วัตถุประสงค์ของมูนิธิก็จะกลายเป็นหน้ากากเท่านั้นเอง  จะทำให้มหาชนคนในชาติก็จะไม่รู้จักพัฒนาให้ยืนบนขาของตัวเอง คอยแต่แสวงหาคนช่วยเสมอไป จึงควรให้ประชาสังคมต่างคนต่างช่วยกันเองจะได้เกิดความรักสามัคคีเข้มแข็งขึ้นในชาติและองค์กรนั้นก็จะอยู่ได้ชั่วกาลนาน
ตามปณิธานของผู้ก่อตั้ง
กรรมการทั้งหมดที่เป็นผู้บริหารงานของมูลนิธิ เกิดขึ้นจากผู้ศรัทธา มีความเห็นสอดคล้องกับ วัตถุประสงค์จะไม่ได้รับผลประโยชน์ใดๆ เป็นการตอบแทน ข้อนี้เป็นสิ่งสำคัญ มูลนิธินี้จะมีผู้ศรัทธาบริจาคทรัพย์ช่วยเหลือหรือไม่ ต้องเป็นที่ยอมรับถ้า กรรมการยอมรับผลประโยชน์ตอบแทน มูลนิธิก็จะกลายเป็นองค์การบังหน้า เพื่อหาประโยชน์เลี้ยงตน จะเรียกว่าองค์การกุศลสาธารณะไม่ได้สนิทนัก จะเปลี่ยนเป็นจากองค์การที่น่าศรัทธาไปตรงข้ามเท่ากับคนที่ไม่เคยเสพสุราแล้วไปเสพเข้าจนเมามายปราศจากสตินั่นเอง…

ปัจจุบันประชาชนคนไทยกำลังอยู่ในช่วงเวลาโศกเศร้าที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ได้สวรรคตเหล่าพสกนิกรไทยต่างน้อมเกล้าน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณหาที่สุดมิได้ โดยต่างนำเอาพระราชปณิธานมาปฏิบัติ เช่น เรื่องเศรษฐกิจพอเพียง พระราชนิพนธ์เรื่องพระมหาชนก ที่ส่งมอบเป็นคติสอนพสกนิกร ของพระองค์

ในเรื่องพระมหาชนก ได้เสด็จไปในสวนสาธารณะ มีต้นมะม่วงต้นหนึ่งออกผลเต็มต้น แต่อีกต้นซึ่งใหญ่กว่ากลับไม่มีผล…
พระมหาชนก ได้ชิมรสผลมะม่วงแล้วบอกว่า “มีรสดีมาก”  หลังจากนั้นประชาชนเลยแย่งกันจะขึ้นเก็บ แต่ชาวบ้านธรรมดาทั่วไป ไม่สามารถ ปีนขึ้นไปเก็บผลได้
ส่วนชาวบ้านที่มีปัญญาความรู้ต่างก็นำอุปกรณ์เครื่องทุ่นแรงเข้าไปตัดโค่นกิ่งและต้น เพื่อเก็บเอาผลมะม่วงไปได้….? แต่ต้นมะม่วงที่ใหญ่กว่าและไม่ออกผลกลับอยู่รอดจากคนที่มีปัญญาเพราะไม่สนใจเข้าไปตัดโค่น…?
จึงยังคงอยู่เป็นประโยชน์ใช้เป็นที่อยู่อาศัยของพวกสัตว์เล็กสัตว์น้อย เช่น นก กา กระรอก ลิงกระแตและสัตว์อีกหลายชนิด แม้แต่มนุษย์ ก็ได้ประโยชน์จากอากาศและสิ่งแวดล้อมที่ให้ร่มเงาได้พักอาศัย…?
พื้นที่ตินโรงเรียนมัธยมสัมมาชาวศิลป บางพระ ตำบลสุรศักดิ์ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี
เปรียบเสมือนต้นมะม่วงใหญ่ที่ไม่มีผล ให้ผู้มีปัญญาเข้าไปแย่งกันเก็บกินหรือโค่นล้ม จึงสามารถดำเนินการอยู่ได้ในปัจจุบันมานานกว่า 50 ปี  ยังไม่บรรลุปณิธานที่ผู้ก่อตั้งวางไว้ ในเรื่องพุทธนิคม…? กำลังรอผู้ศรัทครับบริจาค หรือผู้ที่มีปัญญาจิตอาสาเข้าไปพัฒนาสร้างบุญกุศลที่จะได้เห็นพื้นที่ สัมมาชีวศิลปมูลนิธิฯ ทำให้ต้นมะม่วงใหญ่ต้นนี้พัฒนาออกดอกผลเป็นต้นต่อขยายพันธุ์ใหม่ที่ให้ผลผลิตสูงต่อไปในอนาคต เพื่อสาธารณะคนยากจน ผู้ด้อยโอกาสได้บริโภคดำรงชีพต่อไป…..

ขอนำเอาบทความบางตอนจากหนังสือ “การศึกษาเพื่อสันติภาพ “ เป็นคำปราศรัยของพระธรรมปิฎก( ป.อ.ปยุตฺโต ) ที่ได้รับรางวัลการศึกษาเพื่อสันติภาพจาก องค์การยูเนสโก ปี 2537 ดังนี้
มนุษย์ต่างมีความฝักไฝโน้มเอียงไปในทางที่จะก่อความขัดแย้งและความรุนแรง มากกว่าจะสร้างสรรค์ สันติภาพ เห็นได้ชัดว่าการทำลายสันติภาพง่ายกว่าการรักษาสันติภาพ
สภาพเช่นนี้มิใช่สิ่งที่หลีกเลี่ยงมิได้  ด้วยความขัดแย้งจะเกิดขึ้นที่ใจ…? และที่นั่นแหละเราจะแก้ไขความขัดแย้งนั้นๆได้….

โดยที่แท้แล้วคือ ใจของเรานั่นเอง เมื่อเราอยากได้ผลประโยชน์ในทางวัตถุโดยไม่ควบคุมเราจะเห็นเพื่อนมนุษย์เป็นปฏิปักษ์ และเห็นสิ่งต่างๆในธรรมชาติเป็นวัตถุที่จะเอามาใช้หาประโยชน์เพื่อบำรุงบำเรอความสุข ทางเนื้อหนังเป็นการพัฒนาแบบวัตถุนิยมสุดโต่งขึ้น ทำให้มีการแข่งขันและการบริโภคกลายเป็นแบบแผนของการใช้ชีวิตของสังคมกลายเป็น “นักบริโภค”  ชีวิตแบบนักบริโภคก็ทำให้เกิดปัญหากับสภาพแวดล้อม เมื่อไม่มีความสุขอยู่ข้างใน ต่างก็พยายามแสวงหาความสุขจากภายนอกด้วยการบังคับควบคุมและข่มขี่ ครอบงำผู้อื่น ทำให้เกิดความขัดแย้งมากขึ้น แต่ความสุขกลับลดน้อยถอยลง….? ในทางตรงข้ามการศึกษาที่เป็นกุศลและมีดุลยภาพนี้จะฝึกฝนมนุษย์ให้เป็นผู้พัฒนาความสามารถมิใช่เพียงวิธีการแสวงหา วัตถุนิยมมาเสพเท่านั้น แต่จะให้เขาพัฒนาความสามารถที่จะมีใจที่เป็นสุขด้วย…? คนที่มีความสุขอยู่ที่ใจ ความต้องการทางวัตถุก็จะลดน้อยลงไป ทำให้ทัศนคติในการแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัวพลอย ลดน้อยลงไปตาม  คนที่มีความสุขอยู่ข้างในแล้วก็มีจิตใจโน้มไปในทางที่จะช่วยให้ผู้อื่นมีความสุข เมื่อวัดถุ ที่ใช้บำรุงบำเรอตนเองต่างๆ มิใช่ช่องทางเดียวที่ทำให้เขามีความสุข เขาสามารถแบ่งปันวัตถุเหล่านั้นให้ผู้อื่นได้ ความสุขที่เมื่อก่อนนี้เป็นแบบแก่งแย่งช่วงชิง ก็เปลี่ยนมาเป็นความสุขแบบเผื่อแผ่และประสานกลมกลืน

พื้นฐานสังคมด้านจริยธรรมใดก็ตามที่ต้องใช้ความกลัวและความจำเป็นจำใจ จำยอมแบบห้าม สั่งบังคับนั้นเป็นจริยธรรม ที่มิอาจวางใจได้ในทางตรงข้ามจริยธรรมที่แท้จริง ต้องมีพื้นฐานมาจากการประสานกลมกลืนและความสุขที่เป็นอิสระ ชนเหล่านั้นย่อมไม่ลุ่มหลงเอาทรัพย์และอำนาจเป็นเครื่องบำรุงบำเรอให้เสริมความยิ่งใหญ่ของตนแต่ทรัพย์และอำนาจนั้นจะกลายเป็นเครื่องมือสำหรับใช้สร้างสรรค์ประโยชน์ สุขแก่เพื่อนมนุษย์ จริยธรรมในทางสร้างเสริมเช่นนี้แหละคือสิ่งที่ต้องการในยุคสมัยปัจจุบัน
การให้การศึกษาของเราส่วนใหญ่มักเป็นไปในทางสนับสนุนให้เกิดความอยากได้อยากเอา เรียนเพื่อหาวัตถุมาบำรุงบำเรอเป็นจุดหมายกลายเป็นความสุขจากการแก่งแย่งแบ่งพวกในการหาประโยชน์ให้แก่ตน
การพยายามหาความสุขทางวัตถุภายนอกนี้ย่อมต้องมีความเครียดและความทุกข์แฝงมาด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ถ้าเราเอาความเพียรพยายามเข้ามาใช้ข้างในให้มากขึ้นโดยบำเพ็ญข้อปฏิบัติต่างๆ เช่น การรู้จักมนสิการ และการทำจิตภาวนาก็จะได้พบกับความสุขแบบที่ประณีตและเป็นอิสระมากกว่า ซึ่งเป็นความสุขที่เกิดจากจิตอันนิ่งสงบ และปัญญาที่รู้ความจริง แล้วความสุขแบบนี้ก็จะช่วยให้เราหลุดพ้นไปจากการกระทำทั้งหลายที่เป็นการเบียดเบียนและเห็นแก่ตัว เนื่องจากการ ให้เป็นการสนองต่อความต้องการของเราที่อยากเห็นคนอื่นมีความสุข สรุปว่า การให้ซึ่งธรรมดามองว่า “เป็นการเสีย” แต่ด้วยผู้ให้ได้ความสุขทางใจ และผู้รับได้ความสุขทางกาย ดังนั้น ทั้งเราและเขา ทั้งผู้ให้และผู้รับ จึงต่างก็เป็น “ผู้ได้ ” และมีความสุขด้วยกัน
จะต้องปรับการศึกษาให้สมดุลย์ในเรื่องนี้ โดยการศึกษาทั้งที่บ้านและที่โรงเรียน โดยปลูกฝั่งจิตสำนึกให้เป็นผู้รู้จักให้ เด็กจะรู้สึกความสุขที่เป็นผู้ให้ และก่อให้เกิดเมตตาธรรม หมายถึงความปรารถนาที่จะให้คนอื่นมีความสุข ด้วยการศึกษาแบบนี้เราจะรู้สึกจะมองคนอื่นเป็นเพื่อนมนุษย์ ที่จะต้องร่วมสุขร่วมทุกข์กัน ตกอยู่ภายใต้กฏธรรมชาติเช่นเดียวกัน…….

ผลจากได้รับการสนับสนุนจากผู้มีจิตกุศลดังเกล่าว นี้คือจุดเริ่มต้นของนโยบายการขอทุนบริจาคโดยตั้งกองทุนปุญญนิธิสัมมาชีวศิลป ซึ่งมีนโยบายว่า ผู้ประสงค์จะบริจาคตั้งเป็นกองทุนเพื่อเป็นอนุสรณ์ มูลนิธิจะนำเพียงดอกเบี้ยมาใช้ในการบริหาร ส่วนเงินต้นจะยังคงอยู่ตลอดไป ( กองทุนใช้ไม่หมด )
ณ โอกาสนี้ขอแสดงมุทิตาแด่ทุกๆท่านที่มีส่วนเกี่ยวข้องช่วยเหลือสงเคราะห์ให้วัตถุประสงค์ของสัมมาชีวศิลปมูลนิธิฯ ได้ก้าวหน้า  ขอให้มี สุขภาพสมบูรณ์ทั้งกายและใจ สำหรับท่านที่ล่วงลับไปแล้วก็ขออานิสงส์แห่งคุณความดีอันบริสุทธิ์ที่ได้ถือปฏิบัติมา จงเป็นพลวปัจจัย ให้ดวงวิญญาณของท่านประสบแต่ความสุขสงบในสัมปรายภพตลอดกาลนานเทอญ. 

กลับสู่หน้าหลักสัมมาชีวศิลปฯ

[ ข้อความแสดงความเห็น ที่ท่านได้อ่านในเว็บบอร์ด เกิดจากการเขียนโดยสาธารณชน และส่งขึ้นมาแบบอัตโนมัติ เจ้าของระบบไม่รับผิดชอบต่อข้อความใดๆทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง  และถ้าท่านพบเห็นข้อความใดที่ไม่เป็นจริง หรือขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม กรุณาแจ้งลบที่ ติดต่อเรา  เพื่อให้ผู้ควบคุมระบบทราบและทำการลบข้อความนั้น ออกจากระบบต่อไป ]

Facebook Comments
Share this Post!

Related post

  TOP